ระหว่างที่เรากำลังนั่งจิบกาแฟไทย จับตามองว่าพี่ๆ เกษตรกร ร้านกาแฟหรือโรงคั่วบ้านเรามีกาแฟอร่อยๆ แบบไหนมานำเสนอ ที่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ในสหรัฐอเมริกา เมืองที่เวลาช้ากว่าเราไป 11 ชั่วโมง มีคนไทยผู้ก่อตั้งร้านขายอุปกรณ์กาแฟ 50 Milk Street ‘แพ็ค-สมเพชร คติสมสกุล’ กำลังทำสิ่งที่เราเชื่อมากๆ ว่าใครที่ได้รู้ความตั้งใจของเจ้าตัวแล้วก็คงอยากเอาใจช่วยเหมือนกับเรา
นั่นคือเป้าหมายที่อยากจะผลักดันเมล็ดกาแฟไทยให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่สนใจในกลุ่มคนคั่วและกินกาแฟที่นู่น เพราะหวังเอาไว้ว่าเมื่อเมล็ดกาแฟไทยได้มีตลาดที่กว้างมากขึ้น โอกาสที่คุณภาพชีวิตของพี่ๆ เกษตรกรในบ้านเราจะดีขึ้นก็จะมีมากขึ้นตาม หลังจากขลุกตัวเองกับงานในร้านอาหารในช่วงแรก แพ็คสร้างเส้นทางให้ตัวเองในโลกกาแฟที่นู่น ผ่านการฝ่าฟันรายการแข่งขันระดับประเทศอย่าง US National Brewers Cup Championship 2024 ใช้เวลาและความพยายามอย่างหนักในการฝึกซ้อม จนสามารถพรีเซนต์และชงกาแฟจนคว้ารางวัลชนะเลิศลำดับที่ 3 มาครอง
และนอกจากเก็บประสบการณ์และชื่อเสียงจากการแข่งขัน ในพาร์ตการทำงานในแต่ละวัน เขายังนำเสนอกาแฟให้กับเพื่อนบ้านชาวต่างชาติ ผ่านบทบาทบาริสต้าที่ร้าน Clear Flour Coffee Bar และอีกหนึ่งการทำงานที่เจ้าตัวกำลังทุ่มเททั้งกายและใจอยู่ในตอนนี้ คือการก่อตั้งโรงคั่วกาแฟ Newbery Street เปลี่ยนจากบทบาทจากคนชงกาแฟมาเป็นนักคั่วกาแฟที่ต้องการจะเสนอกาแฟที่ดีในแบบของตัวเองให้คนที่นู่นได้ชิมอย่างเต็มตัว
มาฟังเรื่องราวการเดินทางของคนตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่ตกหลุมรักกาแฟจากประเทศไทย แต่พกความตั้งใจที่อยากจะสนับสนุนกาแฟไทยเดินทางไปไกลถึงประเทศสหรัฐอเมริกาผ่านถ้อยคำด้านล่างนี้กัน
01
โลกของกาแฟของแพ็คเริ่มต้นขึ้นมาอย่างน่าสนใจ “มันไม่ได้มาจากการที่แพ็คกินกาแฟ แต่มันเป็นการที่เพื่อนที่อยู่ในแวดวงของเกษตรกรเป็นคนส่งกาแฟให้แพ็คกิน ช่วงนั้นแพ็คทำบริษัท SNEAK (แพลตฟอร์มช่วยแพลนทริปท่องเที่ยว) แล้วพอโควิด-19 เข้ามา ที่ทำทุกคนล้มแบบโดมิโนกันหมด เราเองก็ล้มด้วย ตอนนั้นก็ดาร์กไซด์เลย เพื่อนๆ หลายคนก็พยายามให้กำลังใจ หนึ่งในนั้นมี “พิมพ์” เพื่อนสมัยเรียนที่ธรรมศาสตร์ ส่งกาแฟของ “น้าบิลลี่” จากไร่ Akhaza Coffee ที่พยายามขายกาแฟในช่วงนั้นพอดีมาให้แพ็คได้ลองกิน
“ปกติเวลาทำงานก็จะกิน instant coffee แต่กาแฟที่เขาส่งมาให้เป็นกาแฟทั้งเมล็ด ซึ่งแพ็คไม่เคยกินแบบนี้มาก่อน ไม่รู้ว่าจะต้องทํายังไง เครื่องบดก็ไม่มี ก็น็อกกาแฟให้มันเป็นเม็ดเล็กๆ แล้วก็เทน้ำร้อนใส่ เหมือนกับการทำเฟรนช์เพรสหรือว่าคัปปิ้ง พอลองชิมแล้วรู้สึกว่านี่ไม่ใช่กาแฟ มันคือน้ำเรดเชอร์รี ไม่เคยรู้มาก่อนว่ากาแฟจะมีรสชาติเหมือนน้ำผลไม้ ไม่ขม ไม่ฝาดอะไรเลย จากนั้นก็เริ่มคุยกับคน เริ่มศึกษาว่าทำไมกาแฟถึงออกมาเป็นอย่างงี้ได้ เริ่มมีอุปกรณ์เข้าบ้าน เช่น V60 เครื่องบด Hario ที่เป็นจุดเริ่มต้นของใครหลายๆ คน”
เมื่อลองดริปเองแล้วถูกใจบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง คำถามมากมายเกี่ยวกับการชงกาแฟให้อร่อยก็ปรากฎขึ้นมา จนมาเจอหนึ่งในทางออกที่ง่ายและสะดวก นั่นคือการทำกาแฟ cold brew ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ phase ต่อมาของความหลงใหลในโลกกาแฟ
“เสิร์ชในอินเตอร์เน็ตไปเจออุปกรณ์ทำกาแฟ cold brew ของ Blue Bottle ที่สวยมาก แต่แพ็คไม่ได้มีเงินซื้ออุปกรณ์ชิ้นนี้ พอได้คุยกับภรรยา เขาบอกว่าทำไมเราไม่ลองเปิดพรีออเดอร์ดู เปิดเพจ พูดเกี่ยวกับกาแฟในนั้นไปด้วย เลยเป็นจุดเริ่มต้นของเพจ 50 Milk Street ขึ้นมา เพจทำให้แพ็คมีโอกาสได้แชร์กับคนหลายๆ คนที่เริ่มกินกาแฟในช่วงโควิด-19 เหมือนกัน แล้วก็ได้เปิดพรีออเดอร์อุปกรณ์กาแฟที่เราอยากได้ สมมติมีออเดอร์เข้ามาประมาณ 5-6 ชิ้น มันสามารถโคฟเวอร์ค่าอุปกรณ์ที่จะซื้อได้แล้ว เหมือนซื้อพ่วงของเรามาด้วย เป็นโมเดลแบบนี้” เมื่อการพรีออเดอร์ตัวแรกประสบความสำเร็จ ตัวอื่นๆ ก็ตามมาเรื่อยๆ หนึ่งในนั้นคือ Holzklotz Stand Drip และ A24 Dripper ที่มีความหลังค่อนข้างพิเศษสำหรับเจ้าตัว
“มันเป็นจุดเริ่มต้นอีกจุดเริ่มต้นหนึ่งเลยที่ทําให้แพ็ครู้สึกว่าหลงใหลในอุปกรณ์กาแฟ เพราะตัวดริปเปอร์มีสตอรี่ของตัวเอง ทำให้การสกัดกาแฟไม่เหมือนเดิม พอทำรีวิวอุปกรณ์ต่างๆ ไปด้วยก็ทําให้เพจไวรัลมากขึ้น แล้วเราก็เรียนรู้เรื่องโลจิสติกส์ตอนนั้นด้วย เริ่มเข้าใจว่าการนําของเข้ามานี่มันมี tax มีนู่นนี่นั่นเต็มไปหมดเลย พอเพจโตขึ้น แพ็คก็เริ่มหาทางออกว่าถ้าจะขายอุปกรณ์กาแฟเพิ่ม ให้เราโตขึ้นได้ต้องทํายังไง การเป็น reseller ก็เป็นโอกาสหนึ่ง
“แพ็คไปคุยกับหลายๆ บริษัท ซึ่งคนแรกๆ ที่ให้โอกาสก็จะมี Yellowstuff กับ Kinto หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ไต่ขึ้นมาจากตรงนี้ เริ่มจากหมื่น หมื่นก็เริ่มขยับไปเป็นห้าหมื่น ขยับไปเรื่อยๆ พอสูงขึ้นก็มีโอกาสซื้ออุปกรณ์เข้ามาขายเองได้ เริ่มเป็น distributor ได้ พยายามหาอะไรใหม่ๆ จับอุปกรณ์กาแฟที่ยังไม่ถูกจับตามอง เช่น Orea มาแนะนำ”
02
ระหว่างที่ศึกษาเรื่องกาแฟให้ลึกลงเรื่อยๆ ปลุกปั้น 50 Milk Street และสรรหาอุปกรณ์กาแฟน่าสนใจมาให้คนที่ติดตามได้รู้จัก แพ็คเล่าให้ฟังว่าเขาได้มีโอกาสเจอตัวละครอื่นๆ ในโลกกาแฟ ไม่ว่าจะเป็นแชมป์เปี้ยนในรายการแข่งต่างๆ คนทำธุรกิจกาแฟ และเหล่าพี่ๆ เกษตรกรที่อยู่ต้นทาง
“แพ็คมีโอกาสได้คุยกับเกษตรกรคนหนึ่งที่เขาส่งกาแฟมาที่ Roots แล้ว Roots ก็พาเกษตรกรมาพบปะประชาชนที่กรุงเทพฯ เขาบอกกรุงเทพฯ ใหญ่มาก ไม่เคยมาเมืองหลวงมาก่อน แล้วเขาได้เห็นสิ่งต่างๆ เหมือนที่คนอื่นได้เห็น ได้มีโอกาสพบเจอกับลูกค้าที่กินกาแฟของตัวเอง กลับบ้านไปเขาก็รู้สึกว่าได้แรงบันดาลใจ และมีกำลังใจที่อยากจะทำผลผลิตกาแฟที่ดีที่สุดเพื่อลูกค้าในปีหน้าๆ
“และแพ็คก็ได้ขึ้นไปฟาร์ม ไปหาน้าบิลลี่ เพราะเขาเป็นหนึ่งในคนที่เปลี่ยนแปลงชีวิตเราเลยในช่วงโควิด-19 จำได้ว่าไปตอนนั้นยากลำบากมาก คือตั้งแต่น้าบิลลี่ยังไม่มีเครื่องทำน้ำร้อน ต้องนอนบนเสื่อ กางเต็นท์ ตอนอาบน้ำ น้ำเย็นมาก เขาก็ช่วยต้มน้ำร้อนเทลงโอ่งให้ โอ้โห ซาบซึ้งใจมาก เพราะเหตุผลนี้มันทำให้แพ็คอยากจะทำอะไรสักอย่างเพื่อที่เราจะได้ช่วยเกษตรกรได้มากขึ้น เกษตรกรไม่เหมือนกับคนขายอุปกรณ์กาแฟ ไม่เหมือนกับคนคั่ว การที่เขาจะทำอะไรออกมา หรือทำให้สินค้าดีขึ้น ต้องใช้เวลา 1 ปี เพราะกาแฟมีวัฏจักรของมัน
“พอมีทีมมาช่วยทำงานของ 50 Milk Street มากขึ้น แพ็คก็อยากจะลงลึกกับกาแฟให้มากกว่าเดิมอีก จนกระทั่งวันหนึ่ง มีโอกาสได้เจอคุณ Dawn Chan (5th Place World Barista Championship 2015 และ 4th Place World Barista Championship 2023) เขาอยู่ที่เมืองไทย พี่ดอนก็เล่าให้ฟังว่าถ้าอยากจะพูดถึงกาแฟ โชว์การเปลี่ยนแปลงของกาแฟ การแข่งคือการพรีเซนต์อย่างหนึ่ง มันเหมือนการ pitch startup เลยว่าอนาคตต่อจากนี้กำลังจะมีอะไรเกิดขึ้น แพ็คก็เลยเกิดความสนใจ แล้วสิ่งที่พี่ดอนพูดขึ้นมาอย่างหนึ่งแล้วดึงแพ็คเลยก็คือ ถ้าแพ็คแข่ง พี่ดอนอยากจะโค้ช เพราะว่าเห็นแพสชัน รู้สึกว่าคนๆ นี้อินกับกาแฟ แล้วก็รักกาแฟมากๆ ก็เลยตัดสินใจแข่ง Thailand National Brewers Cup Championship 2022” สำหรับผลการแข่งขันที่ออกมา แม้จะไม่ได้เข้ารอบ แต่นั่นก็เป็นบทเรียนที่มีค่าสำหรับการแข่งในครั้งต่อไป ที่แน่ๆ เขาก็ยังเก็บความตั้งใจที่อยากสนับสนุนเกษตรกรไทยไว้กับตัวอยู่ตลอด
03
“จนกระทั่งปี 2022 ก็ได้คิดหลายๆ อย่างว่าเราจะทํายังไงต่อกับวงการกาแฟ แล้วก็ได้ตัดสินใจว่าหนึ่งในทางเลือกนั้น คือการมาอเมริกาเพื่อขยายตลาดเมล็ดกาแฟไทยในต่างประเทศ ตอนแรกก็ไม่ได้คิดแบบนี้หรอก มันเป็นจังหวะที่ภรรยาแพ็คเขาอยากมูฟไปทำงานที่อเมริกา ในโอกาสนั้นเราก็ต้องหาแล้วว่าจะทำอะไรดีเพื่อที่จะไปอยู่ซัพพอร์ตเขาตรงนั้นได้ เมล็ดกาแฟไทยก็เป็นหนึ่งในโอกาส แล้วเราก็ยังอยากจะพรีเซนต์กาแฟไทย อยากจะคั่วกาแฟไทยด้วย”
แพ็คเล่าว่าชาวต่างชาติที่ได้เจอ แทบจะไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับกาแฟพิเศษไทยเลย ทุกคนมี perspective ว่ากาแฟไทยต้องหวานๆ มันๆ แต่ไม่รู้ว่าบ้านเรามีกาแฟพิเศษ สิ่งนี้ทำให้แพ็คอยากจะเป็นหนึ่งในคนที่สร้างมูฟเมนต์ ผลักดันให้กาแฟไทยเป็นที่รู้จักในหลายๆ รัฐในอเมริกา ไม่ใช่แค่ในบอสตัน ที่เป็นเมืองหลวงของรัฐแมสซาชูเซตส์
“แล้วการที่เราจะสร้างชื่อเสียงที่นี่ก็คือการแข่ง เรามีประสบการณ์มาแล้ว แพ็คก็เลยลงแข่งอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งรอบนี้ Gabriel Carol (1st Place Romania Brewers Cup Championship 2017 & 2018 และ 9th Place World Brewers Cup Championship 2018 จาก Paga Microroastery) มาช่วยโค้ช เรามีแพสชั่นตรงกันในเรื่องกาแฟไทย รอบไฟนอลเขาก็ตัดสินใจบินมาช่วยถึงที่อเมริกาเลย ซ้อมกันหนักมาก หนักกว่าตอนแข่งที่ไทยหลายเท่า เพราะว่าสนามแข่งที่ไทยกับอเมริกาต่างกัน
“การแข่งที่ไทยคือต้องลงสมัครให้เร็วที่สุดเพื่อที่จะได้เข้ามาแข่ง แล้วมีโอกาสเดียวที่จะแข่งแล้วต้องชนะให้ได้ หมายถึงว่ามี 2 รอบ รอบแรกและไฟนอล แต่ว่าที่อเมริกาแข่ง 3 รอบ เพราะว่าทุกคนอยู่คนละรัฐกันหมด ก็เลยมีการแบ่งเป็นภูมิภาค คือเราต้องคัดรอบแรกก่อน แล้วเข้า prelimary เสร็จแล้วก็มารอบ qualifier ก่อนที่จะได้เข้ามาแข่งในรอบ national จริงๆ พอเข้าไปเจอแต่ผู้เข้าแข่งขันที่มาจากบริษัทที่เรารู้จัก หรือเป็นคนที่เคยเห็นบน YouTube เห็นเขาไปแข่งแชมป์โลกมาแล้ว ตอนนั้นปาดเหงื่อเลย แต่ละรอบลุ้นมากว่าเราไม่ได้แน่นอน
“อีกหนึ่งความเดือดของสนามที่นี่คือเราต้องสู้กับกาแฟที่มี process พิเศษหรือว่ามี unique process ที่ให้รสชาติที่ไม่ใช่ชัดธรรมดานะครับ ชัดมาก 80 เปอร์เซ็นต์ใช้กาแฟชนิดนี้ ซึ่งคะแนนรสชาติก็จะพุ่งมากเลย ของเราเป็น Ethiopia Natural Process คลีนๆ แต่พอคว้า 2nd Runner Up มาได้ โห ดีใจมากๆ เพราะว่าซ้อมกันหนักมากจริงๆ ใช้เงินไปตั้งเยอะ แล้วระหว่างนั้นก็มีคนเข้ามาช่วยเรามากมาย ไม่ว่าจะเป็นแกเบรียล พี่แทน (แทนพงศ์ ทรงพานิช 1st Runner Up World Coffee Good Spirits Championship 2023 จาก Fika & Co) ที่มาช่วยดูรอบพรีลิมฯ และคนอื่นๆ ที่อยู่ที่ไทยอีกหลายคน
“แพ็คไม่รู้ว่าคนอื่นมองยังไง แต่สําหรับแพ็คภาคภูมิใจมากที่สามารถได้ 2nd Runner Up ได้สู้กับบริษัทที่เป็นตํานาน หลายๆ บริษัทที่เก่งและเข้าแข่งขันตลอดเวลา ซึ่งพอเราชนะก็ได้พรู๊ฟตัวเองแล้วว่าเราก็เป็นหนึ่งใน coffee professional คนหนึ่งที่มีความน่าเชื่อถือ แพ็คไปคุยกับใคร แพ็คก็จะสามารถพรีเซนต์ได้ว่า เฮ้ย กาแฟไทยมันเป็นอย่างนี้นะ การส่งต่อเมสเสจของเราก็จะมีน้ำหนักมากขึ้น แล้วเราก็สามารถสร้างอิมแพกต์ได้”
04
“หลังจากการแข่งแพ็คได้กำลังใจมาเยอะมาก ได้รู้จักคนเพิ่ม ซึ่งแพ็คก็ยังเป็นคนๆ เดิม ยังชงกาแฟให้ทุกคนปกติ และก็ตั้งใจอยากจะสร้างความสดใสให้ทุกคนในทุกๆ เช้า แพ็คเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สําคัญสําหรับวงการ customer service ทั้งหมด คือเราควรจะสร้างเมมโมรี่ที่ดีที่สุดให้กับทุกคนก่อนที่เขาจะเริ่มวัน สิ่งที่เป็นแนวคิดของแพ็คเสมอว่าเราได้ส่งต่อพลังเพื่อให้เขาจะได้ไปมีพลังงานที่ดีต่อ แล้วก็ส่งต่อให้คนอื่นไปเรื่อยๆ
“แพ็คว่าวันๆ หนึ่งของคนเรา บางครั้งพอเริ่มโตขึ้น เราไม่ได้มีโอกาสได้เห็นพลังงานบวกจากหลายๆ คน เราก็อยากจะเป็นหนึ่งในโมเมนต์เล็กๆ ของคนหลายๆ คน ในตอนเช้าที่เข้ามาที่ร้านเราแล้วได้พลัง อาจจะเป็นวันที่มีหิมะตกเขาก็ยังแบบมีความสุขที่ได้กาแฟแก้วร้อนๆ อุ่นๆ เดินออกไป”
ในช่วงเริ่มต้นของการคุยกัน แพ็คบอกเราว่าหลังจากนี้เขาจะเอาตัวเองออกมาจากโหมดบาริสต้า รวมถึงงานในพาร์ตร้านอาหาร และตั้งใจจะเป็น Full-time Coffee Roaster นำเสนอกาแฟที่อร่อยในแบบของตัวเอง
“เรารู้สึกว่าถ้าเกิดเราไม่ ไม่ก้าวออกมาเลย มันจะไม่ได้ทําสักที ก็เลยคิดว่าอยากจะลองอีกสักครั้งหนึ่ง ก็อยากพรีเซนต์เมล็ดกาแฟจากหลายๆ ประเทศ แต่เมล็ดกาแฟไทยจะเป็นเมนหลัก เพราะว่าอยากจะแนะนำให้คนได้รู้จัก
“จริงๆ ultimate goal ที่คิดไว้มาตั้งแต่เรียนจบมหาวิทยาลัย คือการที่เราสามารถทำให้ GDP ของทั้งประเทศหรือว่าทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มันเพิ่มขึ้น ไม่รู้ว่าแพ็คจะไปถึงจุดนั้นได้ไหม แต่ก็เชื่อว่าอาหารหรือกาแฟอาจจะเป็นหนึ่งในสิ่งนั้นที่ทําให้แพ็คสร้างอิมแพกต์นี้ได้ ลองจินตนาการดูว่าถ้าอเมริกาใช้กาแฟไทย มูลค่ามันมหาศาลมาก และมันทำให้เกษตรกรเราเติบโตแน่ๆ แล้วแพ็คก็อยากมีโอกาสพาเกษตรกรไทยมาที่นี่ให้ได้ เพื่อที่เขาจะได้มาเห็นเหมือนที่เขาได้ไปกรุงเทพ แล้วเขาก็จะมีเรื่องเล่ากลับไปบอกลูกหลานว่าคนที่อเมริกาเขากินกาแฟกันอย่างนี้นะ”
แพ็คเล่าให้ฟังว่าไม่นานมานี้เขาได้มีโอกาสไปป๊อปอัพที่นิวยอร์ก โดยเอากาแฟไทยที่คั่วเองไปวางขาย และพรีเซนต์ให้คนที่นั่นรู้จัก คำว่า sold out ภายในหนึ่งวันก็น่าจะเป็นหนึ่งในหลักฐานการันตีว่าการผลักดันกาแฟไทยที่แพ็คตั้งใจ เส้นทางนี้มีที่ทางให้ไปต่ออย่างแน่นอน
“อย่างกาแฟของน้าบิลลี่แพ็คก็เอามาคั่วที่นี่ ภูมิใจมากที่มีโอกาสนำเสนอมันออกไป แล้วทุกคนก็ยิ้มสนุกกับการได้ลองกาแฟไทย นี่คือกาแฟไทยเหรอ ไม่เคยกินมาก่อน มันเป็นการเปิดโลกใหม่นะครับ และหลังจากนี้ก็จะมีอีกหลายๆ โปรเจกต์ที่ Newbery Street จะโคกับหลายๆ บริษัทที่ทำอุปกรณ์กาแฟ ให้กาแฟไทยได้มีช่องทางโปรโมตมากขึ้น แพ็คมีความตื่นเต้นมากๆ กับการได้นําเสนอกาแฟไทยที่นี่ แล้วก็ได้เป็นหนึ่งในมูฟเมนต์ที่จะสร้างชื่อเสียงให้กาแฟไทยครับ”